หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

สถิต ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่มั่น

พระธาตุหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

พระธาตุหลวงปู่มั่น

กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

กุฏิหลวงปู่มั่น

นามเดิม             มั่น แก่นแก้ว

ฉายา                 ภูริทตฺโต

เกิด                   วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓

อุปสมบท           วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๓๖ ณ อุโบสถวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ที่มา                  หนังสือประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร เรียบเรียงโดยพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)

ชีวประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ อาจารย์สอนธรรมทางวิปัสสนา มีศิษยานุศิษย์มาก มีคนเคารพนับถือมาก มีชีวประวัติควรเป็นทิฏฐานุคติแก่กุลบุตรได้ผู้หนึ่ง ดังจะเล่าต่อไปนี้

ชาติสกุล

ท่านกำเนิดในสกุล แก่นแก้ว นายคำด้วง เป็นบิดา นางจันทร์ เป็นมารดา เพียงแก่นท้าวเป็นปู่ ชาติไทย นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม๒ จังหวัดอุบลราชธานีมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๙ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี บุตร ๖ คนตายเสียแต่เล็ก ยังเหลือน้องสาว ๒ คน คนสุดท้องชื่อ หวัน จำปาศิลป

รูปร่างลักษณะและนิสัย

ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดง แข็งแรง ว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายในทางที่ถูก ไม่ยอมทำตามในทางที่ผิด

การศึกษาสามัญ

ท่านได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรมและอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นัยว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดีและมีความขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียนศึกษา

การบรรพชา

เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่าง ๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่ออายุท่านได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยการงานของบิดามารดาเต็มความสามารถ

ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะมีอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้คอยสะกิดใจอยู่เสมอ

ท่านพระอาจารย์มั่นขณะเป็นฆราวาสอยู่นั้น ได้กราบนมัสการท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ครั้งแรก พร้อมทั้งมอบตัวเป็นศิษย์กับท่าน ที่กุดเม็ก โดยอยู่ห่างจากบ้านคำบง ซึ่งเป็นบ้านเกิดท่านพระอาจารย์มั่น ๒ กิโลเมตร
ท่านพระอาจารย์เสาร์ได้ขอท่านพระอาจารย์มั่นจากโยมพ่อโยมแม่ของท่านไปบวชด้วย ซึ่งผู้เล่าประวัติเล่าว่า

“ท่านพระอาจารย์มั่น เทียวเข้าเทียวออกเป็นประจำที่กุดเม็ก บางคืนก็ไม่กลับเข้าไปนอนที่บ้าน อยู่ฝึกสมาธิและเพื่ออุปัฏฐากท่านพระอาจารย์เสาร์ คือล้างบาตร เช็ดบาตร ต้มน้ำร้อนน้ำอุ่น รับประเคนสิ่งของถวายท่านพระอาจารย์เป็นประจำ” ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ฝึกหัดกัมมัฏฐานกับท่านพระอาจารย์เสาร์ และได้ชวนท่านพระอาจารย์มั่นไปบวชด้วย โดยกล่าวว่า “โตไปบวชกับเฮาเน้อ”

หลังจากที่ท่านพระอาจารย์มั่นอุปสมบทที่เมืองอุบลแล้ว ท่านได้ติดตามท่านพระอาจารย์เสาร์ไปธุดงค์ที่ฝั่งลาว ต่อมาท่านทั้งสองได้กลับมาเยี่ยมบ้านคำบงอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งปรารภสร้างพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ๒ องค์ ที่กุดเม็ก โดยทำเตาหลอมและเททองหล่อพระด้วยองค์ท่านเอง และสถานที่หล่อพระนั้น ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ที่ศาลาสำนักสงฆ์กุดเม็ก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบูรพาจารย์ทั้งสองท่าน

จากข้อมูลหนังสือ หลวงปู่เสาร์ โดยท่านมหาบุญเลิศ ฐานทินโน และคณะ

สุบินนิมิต

ท่านเล่าว่าเมื่อกำลังศึกษากัมมัฏฐานภาวนาใน สำนักท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี นั้น ชั้นแรกยังใช้บริกรรมภาวนาว่า พุทโธ ๆ อยู่

อยู่มาวันหนึ่ง จะเป็นเวลาเที่ยงคืนหรือ อย่างไรไม่แน่ บังเกิดสุบินนิมิตว่า ได้เดินออกจาก หมู่บ้านด้านหนึ่ง มีป่า เลยป่าออกไปก็ถึงทุ่งเวิ้งว้าง กว้างขวาง จึงเดินตามทุ่งไป ได้เห็นต้นชาติต้นหนึ่ง ที่บุคคลตัดให้ล้มลงแล้ว ปราศจากใบ ตอของต้นชาติสูงประมาณ ๑ คืบ ใหญ่ประมาณ ๑ อ้อม ท่านขึ้นสู่ขอนชาตินั้น พิจารณาดูอยู่ รู้ว่าผุพังไปบ้างและจักไม่งอกขึ้นได้อีก ในขณะที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น มีม้าตัวหนึ่ง ไม่ทราบว่ามาจากไหน มาเทียมขอนชาติ ท่านจึงขึ้นขี่ม้าตัวนั้น ม้าพาวิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเต็มฝีเท้า ขณะที่ถ้าพาวิ่งไปนั้น ได้แลเห็นตู้ใบหนึ่ง เหมือนตู้พระไตรปิฎก ตั้งอยู่ข้างหน้า ผู้นั้นวิจิตรด้วยเงินสีขาวเลื่อมเป็นประกายผ่องใสยิ่งนัก ม้าพาวิ่งเข้าไปสู่ตู้นั้น ครั้นถึงม้าก็หยุดและหายไป ท่านลงจากหลังม้าตรงตู้พระไตรปิฎกนั้น แต่มิได้เปิดตู้ดู ไม่ทราบว่ามีอะไรอยู่ในนั้น แลดูไปข้างหน้า เห็นเป็นป่าชัฏ เต็มไปด้วยขวากหนามต่างๆ จะไปต่อไปไม่ได้ เลยรู้สึกตัวตื่นขึ้น

สุบินนิมิตนี้เป็นบุพพนิมิตบอกความมั่นใจในการทำความเพียรของท่าน ท่านจึงตั้งหน้าทำความเพียรประโยคพยายามมิได้ท้อถอย มีการเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ก็มิได้ทอดทิ้ง คงดำเนินตามข้อปฏิบัติอันท่านโบราณบัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงบำเพ็ญตามทางแห่งอริยมรรค

ครั้นต่อมาท่านจึงหวนไปพิจารณาสุบินนิมิตนั้น จึงได้ความว่า การที่ท่านออกมาบวชในพระพุทธศาสนาและปฏิบัติตามอริยมรรคนั้น ชื่อว่าออกจากบ้าน บ้านนั้นคือความผิดทั้งหลาย และป่านั้นคือกิเลส ซึ่งเป็นความผิดเหมือนกัน อันความที่บรรลุถึงทุ่งอันเวิ้งว้างนั้น คือละความผิดทั้งหลาย ประกอบแต่ความดีความงาม ขอนชาติได้แก่ชาติความเกิด ม้าได้แก่ตัวปัญญาวิปัสสนา จักมาแก้ความผิด การขึ้นสู่ม้าแล้วถ้าพาวิ่งไปสู่ตู้พระไตรปิฎกนั้นคือ เมื่อพิจารณาไปแล้ว จักสำเร็จเป็นปฏิสัมภิทานุสาสน์ ฉลาดรู้อะไรๆ ในเทศนาวิธีทรมานแนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งหลายให้ได้รับความเห็นใจและเข้า ใจในข้อปฏิบัติทางจิต แต่จะไม่ได้ในจตุปฏิสัมภิทาญาณเพราะไม่ได้เปิดดูตู้นั้น ส่วนข้างหน้ามันเต็มไปด้วยขวากหนามนั้นได้ความว่า เมื่อพิจารณาเกินไปจากมรรค จากสัจจะ ก็คือความผิดนั้นเอง เมื่อพิจารณาได้ความเท่านี้แล้ว ก็ถอยจิตคืนมาหาตัว พิจารณากาย เป็นกายคตาสติภาวนาต่อไป

สมาธินิมิต

ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านเจริญกัมมัฏฐานภาวนาอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลนั้น ในชั้นแรกยังบริกรรมภาวนาว่า พุทโธๆ อยู่

วาระแรก มีอุคคหนิมิต คือเมื่อจิตร่วมลง ได้ปรากฏรูปอสุภะภายนอกก่อน คือเห็นคนตายอยู่ข้างหน้า ห่างจากที่นั่งประมาณ ๑ วา ผินหน้ามาทางท่าน มีสุนัขตัวหนึ่งมาดึงเอาไส้ออกไปกินอยู่ เมื่อเห็นดังนั้น ท่านก็มิได้ท้อถอย คงกำหนดนิมิตนั้นให้มาก ออกจากที่นั่งแล้วจะนอนอยู่ก็ดี จงกรมก็ดี เดินไปมาอยู่ก็ดี ก็ให้ปรากฏนิมิตอยู่อย่างนั้น ครั้นนานวันมาก็ขยายให้ใหญ่ ขยายให้เน่าเปื่อยผุพัง เป็นจุณวิจุณไป กำหนดให้มาก ให้มีทั้งตายเก่าและตายใหม่ จนกระทั่งเต็มหมดทั้งวัดวา มีแร้งกาหมายื้อแย่งกันกินอยู่ ท่านก็ทำอยู่อย่างนั้น จนอสุภะนั้นได้กลับกลายเป็นวงแก้ว

วาระที่ ๒ เมื่อร่างอสุภะทั้งหมดได้กลับกลายมาเป็นวงแก้วแล้ว จึงเพิ่งอยู่ในวงแก้วอันขาวเลื่อม ใสสะอาด คล้ายวงกสิณสีขาว ท่านก็เพ่งพินิจพิจารณาอยู่ในวงนั้นเรื่อยไป

วาระที่ ๓ เมื่อกำหนดพิจารณาต่อไป จึงแลไปเห็นอะไรอย่างหนึ่งคล้ายภูเขา อยู่ข้างหน้า จึงนึกขึ้นในขณะนั้นว่าอยากไปดู บางทีจะเป็นหนทางข้อปฏิบัติกระมัง? จึงได้เดินไปดู ปรากฏว่าภูเขานั้นเป็นพักอยู่ ๕ พัก จึงก้าวขึ้นไปถึงพักที่ ๕ แล้วหยุด แล้วกลับคืน ขณะที่เดินไปนั้น ปรากฏว่าตัวท่านสะพายดาบอันคมกล้าเล่มหนึ่ง และที่เท้ามีรองเท้าสวมอยู่ ในคืนต่อมาก็เป็นไปอย่างนั้นอีก และปรากฏนิมิตคืบหน้าต่อไปเป็นกำแพงขวางหน้าอยู่ ที่กำแพงมีประตู จึงอยากเข้าไปดูว่าข้างในมีอะไรอีก จึงเอามือผลักประตูเข้าไป ปรากฏว่ามีทางสายหนึ่งตรงไป ท่านจึงเดินตามทางนั้นไป ข้างทางขวามือเห็นมีที่นั่งและที่อยู่ของพระภิกษุ ๒-๓ รูปกำลังนั่งสมาธิอยู่ ที่อยู่ของพระภิกษุนั้นคล้ายประทุนเกวียน ท่านมิได้เอาใจใส่ คงเดินต่อไป ข้างทางทั้งสองข้างมีถ้ำมีเงื้อมผาอยู่มาก ได้เห็นดาบสตนหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ท่านก็มิได้เอาใจใส่อีก ครั้นเดินต่อไปก็ถึงหน้าผาสูงมาก จะไปอีกก็ไปไม่ได้ จึงหยุดเพียงนั้น แล้วกลับออกมาทางเก่า

คืนต่อมาก็ไปอีกอย่างเก่า ครั้นไปถึงหน้าผาแห่งนั้น จึงปรากฏยนตร์คล้ายอู่ มีสายหย่อนลงมาแต่หน้าผา ท่านจึงขึ้นสู่อู่ พอนั่งเรียบร้อย อู่ก็ชักขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้น ครั้นขึ้นไปแล้วจึงเห็นสำเภาใหญ่ลำหนึ่งอยู่บนภูเขาลูกนั้น ขึ้นไปดูในสำเภาเห็นโต๊ะสี่เหลี่ยม บนโต๊ะมีผ้าปู เป็นผ้าสีเขียวเนื้อละเอียดมาก มองดูทั้ง ๔ ทิศ มีดวงประทีปติดสว่างรุ่งโรจน์อยู่ ประทีบนั้นคล้ายติดด้วยน้ำมัน ปรากฏว่าตัวท่านขึ้นนั่งบนโต๊ะนั้น และปรากฏว่าได้ฉันจึงหันที่นั้นด้วย เครื่องจังหันมีแตงกับอะไรอีกหลายอย่าง ครั้นฉันจึงหันเสร็จแล้ว มองไปข้างหน้าปรากฏเห็นเป็นฝั่งโน้นไกลมาก จะไปก็ไปไม่ได้เพราะมีเหวลึก ไม่มีสะพานข้ามไป จึงกลับคืนมาเหมือนอย่างเก่า

วาระที่ ๔ ก็เพ่งไปน้อมจิตไปอย่างเก่านั่นแล ครั้นไปถึงสำเภาแห่งนั้น จึงปรากฏเห็นมีสะพานน้อย ๆ ข้ามไปยังฝังโน้นจึงเดินไป พอไปถึงฝั่งโน้นแล้วก็ปรากฏเห็นกำแพงใหญ่มาก สูงมาก ประกอบด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคง ที่หน้ากำแพงมีถนนใหญ่ไปทางทิศใต้และทิศเหนือ นึกอยากเข้าไปมาก จึงเดินไปผลักประตู ประตูไม่เปิดจึงกลับคืนมา

วาระที่ ๕ ทำอย่างเก่าอีก ปรากฏไปอย่างเก่า สะพานจากสำเภาใหญ่ไปยังฝั่งโน้นปรากฏว่าใหญ่กว่าเก่ามาก ครั้นเดินตามสะพานนั้นไปได้ครึ่งสะพาน ปรากฏเห็นท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) เดินสวนมา และกล่าวว่า “อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค” แล้วต่างก็เดินต่อไป

พอไปถึงประตูก็แลเห็นประตูเล็กอีกประตูหนึ่ง จึงเดินไปผลักประตูเล็กนั้นออกได้ แล้วไปเปิดประตูใหญ่ได้ เข้าไปข้างในกำแพงปรากฏมีเสาธงทองตั้งอยู่ท่ามกลางเวียงนั้นสูงตระหง่าน ต่อไปข้างหน้าปรากฏมีถนน เป็นถนนดี สะอาด เตียนราบ มีเครื่องมุง มีประทีปโคมไฟติดเป็นดวงไป ตามเพดานหลังคาถนน มองไปข้างหน้าเห็นมีโบสถ์หลังหนึ่งตั้งอยู่ จึงเดินเข้าไปในโบสถ์ ภายในโบสถ์มีทางจงกรม ที่สุดทางจงกรมทั้งสองข้างมีดวงประทีปตามสว่างรุ่งโรจน์ นึกอยากเดินจงกรม จึงได้เดินจงกรมไป ๆ มา ๆ อยู่ และต่อมาปรากฏมีธรรมาสน์อันหนึ่งวิจิตรด้วยเงิน จึงขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์นั้น บนธรรมาสน์มีบาตรลูกหนึ่ง เปิดดูในบาตรมีมีดโกนเล่มหนึ่ง พอมาถึงตรงนี้ก็อยู่ ไม่ปรากฏอะไรต่อไปอีก

วันต่อมาก็เข้าไปถึงตรงนี้อีกทุก ๆ วัน ทุกครั้งที่เข้าไปก็ปรากฏว่าในตัวท่านมีดาบสะพายอยู่เล่มหนึ่ง กับมีรองเท้าสวมอยู่ด้วย ปรากฏเป็นอย่างนี้อยู่ ๓ เดือน

ครั้นต่อมาเมื่อออกจากที่แล้ว (คือจิตถอนออกจากสมาธิ) เห็นอารมณ์ภายนอกก็ยังกระทบกระทั่งอยู่ร่ำไป สวยก็เกิดรัก ไม่ดีก็ชัง เป็นอยู่อย่างนี้ ท่านจึงพิจารณาว่า การที่เราพิจารณาอย่างนี้ มันยังเป็นนอกอยู่ ไม่หยุดอยู่กับที่ และครั้นกระทบอารมณ์ก็ยังหวั่นไหวอยู่นี้เห็นจะไม่ใช่ทางเสียแล้วกระมัง ?

เมื่อพิจารณาได้ความอย่างนี้ จึงเริ่มแก้ด้วยอุบายวิธีใหม่
จึงตั้งต้น พิจารณากายนี้ทวนขึ้นและตามลงไป อุทธํ อโธ ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ เบื้องบนแต่ปลายเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป และด้านขวางสถานกลางโดยรอบ ด้วยการจงกรม เวลาจะนอนก็นอนเสีย ไม่นั่งให้มันรวมเหมือนอย่างเก่า ใช้อุบายนี้ทำประโยคพยายามพากเพียรอยู่โดยมิท้อถอย

ตลอด ๓ วันล่วงแล้วจึงนั่งพิจารณาอีก ทีนี้จิตจึงรวมลง และปรากฏว่ากายนี้ได้แตกออกเป็นสองภาค พร้อมกับรู้ขึ้นในขณะนั้นว่า
“เออ ที่นี้ถูกแล้วละ เพราะจิตไม่น้อมไปและมีสติรู้อยู่กับที่”

นี้เป็นอุบายอันถูกต้องครั้งแรก ตั้งแต่นั้นมาก็พิจารณาอยู่อย่างนั้น
ครั้นออกพรรษา ตกฤดูแล้งก็ออกเที่ยวจาริกแสวงหาวิเวกไปอยู่ที่สงัด ปราศจากคนพลุกพล่านตามหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านพออาศัยภิกขาจารวัตร ตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกเจ้าที่ดำเนินมาก่อนแล้วทั้งหลาย ไปทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง

ภูหล่น ในราว พ.ศ. ๒๔๔๐ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ได้นำท่านมาอบรมสมาธิอยู่บนภูหล่นแห่งนี้ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านคำบง ที่เป็นบ้านเกิดของท่านประมาณ ๕ กิโลเมตร เดิมนั้น สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยไข้ป่าและสัตว์ร้าย ท่านทั้งสองได้นำชาวบ้านขึ้นมาช่วยขนหินขนดินก่อเป็นถ้ำ มีประตูเข้าออกเปิดปิดได้ (เอาดินโคลนผสมกับเศษหินเล็ก ๆ และฟางข้าวฉาบทา) สร้างพอเป็นที่อยู่อาศัย กันสัตว์ร้ายมารบกวนเวลาทำความเพียร หลังจากท่านพระอาจารย์เสาร์ได้อบรม แนะนำการปฏิบัติกัมมัฏฐานแก่ท่านพระอาจารย์มั่นพอสมควรแล้ว จนรู้ชัดว่า กำลังสมาธิอันแน่วแน่ได้เกิดขึ้นแล้วในองค์ท่าน และสามารถอยู่บำเพ็ญความเพียรโดยลำพังองค์เดียวได้ ท่านพระอาจารย์เสาร์จึงได้แยกจากไป แสวงหาสถานที่วิเวกแห่งอื่นต่อไปท่านพระอาจารย์มั่นได้อยู่อบรมภาวนาที่ภู หล่นประมาณ ๕ ปี
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ท่านพระอาจารย์มั่นได้แสดงธรรมเทศนาอบรมโยมมารดา จนเกิดศรัทธาในการปฏิบัติธรรม จึงออกประพฤติศีลพรหมจรรย์ติดตามท่านไป หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้ย้อนกลับมา ณ สถานที่ภูหล่นอีกเลย
จากข้อมูล วัดภูหล่น อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี

ในคราวไปวิเวกถิ่นนครพนม ได้เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ (พนฺธุโล จูม) กับเจ้าคุณพระสารภาณมุนี (จันทร์) (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ) ไปเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียน ทั้งทางสมถวิปัสสนา ทั้งทางปริยัติธรรม ณ เมืองอุบลก่อน แล้วลงไปศึกษาเล่าเรียนทางกรุงเทพพระมหานคร จนได้กลับมาทำประโยชน์ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในภาคอีสานปัจจุบันนี้

ส่วนท่านอาจารย์ เมื่ออายุพรรษาพอสมควรแล้ว จึงได้ลงไปศึกษาทางกรุงเทพพระมหานคร อันเป็นแหล่งนักปราชญ์ สำนักที่วัดปทุมวัน (วัดปทุมวนาราม) หมั่นไปสดับพระธรรมเทศนาอบรมปัญญากับเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) ที่วัดบรมนิวาส

ในวันหนึ่ง เมื่อกลับจากวัดบรมนิวาส เดินตามถนนหลวงไปกับสหธรรมมิกสี่ห้ารูป กำหนดพิจารณาไปพลาง พอไปถึงโรงเรียนกรมแผนที่ (วังกรมพระสวัสดิ์เก่า) จึงได้อุบายแห่งวิปัสสนา เอาโรงเรียนนั้นเป็นนิมิตว่า “ของอะไรทั้งหมดเกิดจากของที่มีอยู่ (ดินหนุนดิน)”

ตั้งแต่นั้นมาก็กำหนดพิจารณาอุบายแห่งวิปัสสนามิได้ลดละ จึงได้ ออกไปทำความเพียรอยู่ที่เขาพระงาม (ถ้ำไผ่ขวาง) ถ้ำสิงห์โต จึงพอได้รับความเข้าใจในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตเจ้าทรงประกาศแล้ว

ครั้นพรรษาได้ ๒๓ จึงกลับมาหาหมู่คณะทางภาคอีสาน มีพระเณรมาศึกษาด้วยมากขึ้นโดยลำดับ มี พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นต้น จนพรรษาได้ ๓๘ จึงได้จากหมู่คณะ ไปจำพรรษาวัดปทุมวัน กรุงเทพฯ แล้วเลยไปเชียงใหม่กับเจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺทเถร จันทร์) พักวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วไปวิเวกตามที่ต่าง ๆ บ้าง กลับมาจำพรรษาวัดเจดีย์หลวงบ้าง รวมเวลา ๑๑ ปี จึงได้กลับมาภาคอีสาน เพื่อสงเคราะห์สาธุชน ตามคำนิมนต์ของเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ จน ถึงปัจฉิมสมัย

ปฏิปทา

เมื่อแรกอุปสมบท ท่านพำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบล เป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพา เมืองอุบล บ้างเป็นบางคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้นอันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และ อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรียบร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌายาจารย์ และศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกรม นั่งสมาธิ กับสมาทานธุดงควัตรต่าง ๆ

ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏที่แจ้ง หุบเขา ซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้างทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวัน หมั่นไปสดับธรรมเทศนากับเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงห์โต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสานทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนาแก่สหธรรมมิก และอุบาสก อุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน

ในกาลต่อมาได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวัน กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปีจึงได้กลับมาจังหวัดอุดรธานี ตามคำอาราธนาของเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ พักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา

แล้วมาอยู่เขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกลนคร ๓ พรรษา จำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามมาศึกษาอบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่านได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ

๑. ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนใช้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย

๒. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตรเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต

๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยจึงงด

๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ

ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มากก็คือ อรัญญิกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย เมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ในเสนาสนะป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาต เป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรงไม่รบกวน

นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่น ในคราวไปอยู่ทางภาคเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูงอันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอ ยังฯาวมูเซอซึ่งพูดไม่รู้เรื่องกันให้บังเกิดศรัทธาในพระศาสนาได้

กิจวัตรประจำวัน

ท่านปฏิบัติกิจประจำวันเป็นอาจิณวัตรเพื่อเป็นแบบอย่างแก่สานุศิษย์ และพร่ำสอนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติเป็นอาจิณวัตรต่อไปนี้

– เวลาเช้า ออกจากกุฏิ ทำสรีรกิจ คือ ล้างหน้า บ้วนปาก นำบริขารลงสู่โรงฉัน ปัดกวาดลานวัด แล้วเดินจงกรม
– พอได้เวลาภิกขาจารก็ขึ้นสู่โรงฉัน นุ่งห่มเป็นปริมณฑล สะพายบาตรเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต
– กลับจากบิณฑบาตแล้ว จัดแจงบาตร จีวร แล้วจัดอาหารใส่บาตร นั่งพิจารณาอาหาร ปัจจเวกขณะ ทำภัตตานุโมทนาคือยถาสัพพีเสร็จแล้ว ฉันจังหัน ฉันเสร็จแล้วล้างบาตร เก็บบริขารขึ้นกุฏิ
– ทำสรีรกิจ พักผ่อนเล็กน้อย แล้วลุกขึ้นล้างหน้า ไหว้พระ สวดมนต์ และพิจารณาธาตุอาหาร ปฏิกูล ตังขณิก อตีตปัจจเวกขณะ แล้วชำระจิตจากนิวรณ์ นั่งสมาธิพอสมควร
– เวลาบ่าย ๓-๔ โมง กวาดลานวัด ตักน้ำใช้ น้ำฉันมาไว้ อาบน้ำชำระกายให้สะอาดปราศจากมลทิน แล้วเดินจงกรมจนถึงพลบค่ำจึงขึ้นกุฏิ
– เวลากลางคืนตั้งแต่พลบค่ำไป สานุศิษย์ก็ทยอยกันขึ้นไปปรนนิบัติ ท่านได้เทศนาสั่งสอนอบรมสติปัญญาแก่สานุศิษย์พอสมควรแล้ว สานุศิษย์ถวายการนวดฟั้น (เฟ้น) พอสมควรแล้ว ท่านก็เข้าห้อง ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ แล้วพักนอนประมาณ ๔ ทุ่ม เวลา ๓.๐๐ น. ตื่นนอน ล้างหน้าบ้วนปาก แล้วปฏิบัติกิจอย่างในเวลาเช้าต่อไป

กิจบางประการ เมื่อมีลูกศิษย์มากและแก่ชราแล้ว ก็อาศัยศิษย์เป็นผู้ทำแทน เช่น การตักน้ำใช้ น้ำฉัน เพราะเหน็ดเหนื่อยเนื่องจากชราภาพ ส่วนกิจอันใดเป็นสมณประเพณีและเป็นศีลวัตร กิจนั้นท่านปฏิบัติเสมอเป็นอาจิณ มิได้เลิกละ

ท่านถือคติว่า “เมื่อมีวัตรก็ชื่อว่ามีศีล ศีลเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ”
ท่านกล่าวว่า “ต้นดี ปลายก็ดี ครั้นผิดมาแต่ต้น ปลายก็ไม่ดี”

ท่านกล่าวว่า “ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี” อุปมารูปเปรียบเหมือนอย่างว่า “การทำนา เมื่อบำรุงรักษาลำต้นข้าวดีแล้ว ย่อมหวังได้แน่ซึ่งผลดังนี้” ท่านจึงเอาใจใส่ ตักเตือนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติศีลวัตรอันเป็นส่วนเบื้องต้นให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ไว้เสมอ

บำบัดอาพาธด้วยธรรมโอสถ

เมื่อคราวท่านลงไปจำพรรษาที่วัดปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ก่อนไปเชียงใหม่ ข้าพเจ้า๑ ผู้เรียงประวัตินี้ พึ่งได้อุปสมบทใหม่ ๆ กำลังสนใจศึกษาทางสมถวิปัสสนา ได้ทราบกิตติศัพท์ของท่านว่าเป็นผู้ปฏิบัติเซี่ยวชาญทางสมถวิปัสสนา จึงเข้าไปศึกษาสดับฟังธรรมเทศนาของท่าน ได้ความเชื่อความเลื่อมใส ถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านแล้ว ท่านเล่าเรื่องวิธีระงับอาพาธด้วยธรรมโอสถให้ฟังว่า
ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

เมื่อคราวท่านไปจำพรรษาที่ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก นั้น เกิดอาพาธ ธาตุกำเริบ ไม่ทำการย่อยอาหารที่บริโภคเข้าไป ถ่ายออกมาก็เป็นเหมือนเมื่อแรกบริโภค
ชั้นแรกได้พยายามรักษาด้วยยาธรรมดาจนสุดความสามารถ อาพาธก็ไม่ระงับ

จึงวันหนึ่ง ขณะที่ไปแสวงหายารากไม้เพื่อมาบำบัดอาพาธนั้น ได้ความเหน็ดเหนื่อยมากเพราะยังมิได้ฉันจังหัน ครั้นได้ยาพอและกลับมาถึงถ้ำที่พักแล้ว บังเกิดความคิดขึ้นว่า เราพยายามรักษาด้วยยาธรรมดามาก็นานแล้ว อาพาธก็ไม่ระงับ เราจะพยายามรักษาด้วยยาธรรมดาต่อไปก็คงไร้ผลเหมือนแต่ก่อน บัดนี้ อาพาธก็กำเริบยิ่งขึ้น ควรระงับด้วยธรรมโอสถดูบ้าง หากไม่หาย ก็ให้มันตายด้วยการประพฤติธรรมดีกว่า

ครั้นแล้วก็เข้าที่ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติสัมปชัญญะ กำหนดพิจารณา กายคตาสติกัมมัฏฐาน ไม่นานก็ได้ความสงบจิต อาพาธก็ระงับหายวันหายคืนโดยลำดับ จนร่างกายแข็งแรงดังเก่าจึงย้ายไปทำความเพียรอยู่ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงามและถ้ำสิงห์โต ลพบุรี จนได้ความแกล้วกล้าอาจหาญในพระธรรมวินัยดังเล่ามาแล้ว

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านอาศัยอยู่ห้วยน้ำกึง อันเป็นอรัญญสุขวิหารราวป่าชัฏ ก่อนจะไปอยู่ที่นั้น ท่านได้พิจารณาธาตุขันธ์ได้ความว่า อาพาธจะกำเริบ และจะระงับได้ในสถานที่นั้น จึงได้หลีกจากหมู่คณะไปอยู่องค์เดียวในสถานที่นั้น พอตกกลางคืน อาพาธอันเป็นโรคประจำตัวมาแต่ยังเด็กก็กำเริบ คือปวดท้องอย่างแรง นั่งนอนไม่เป็นสุขทั้งนั้น จึงเร่งรัดพิจารณาวิปัสสนา ประมาณ ๑ ชั่วโมงอาพาธก็สงบ ปรากฏว่าร่างกายนี้ละลายพึ่บลงสู่ดินเลย จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “นาญฺญตฺร โพชฺฌา ตปสา นาญฺญตฺร ปฏินิสฺสคฺคา” พิจารณาได้ความว่า “ธรรมอื่นเว้นโพชฌงค์เสียแล้วจะเป็นเครื่องแผดเผามิได้มี” ดังนี้

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านอาพาธเป็นไข้มาเลเรียขึ้นสมอง เจ้าคุณพระเทพโมลี (ธมฺมธโร พิมพ์) อาราธนามารักษาที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ท่านก็ยินยอมให้รักษาดู ท่านเจ้าคุณจึงไปเชิญหมอแผนปัจจุบันมารักษา ฉีดหยูกยาต่าง ๆ จนสุดความสามารถของหมอ วันหนึ่ง หมอกระซิบบอกท่านเจ้าคุณว่า “หมดความสามารถแล้ว”
พอหมอไปแล้ว ท่านพระอาจารย์จึงนิมนต์เจ้าคุณพระเทพโมลีไปถามว่า “หมอว่าอย่างไร? ”
ท่านเจ้าคุณก็เรียนให้ทราบตามตรง
ท่านพระอาจารย์จึงบอกว่า “ไม่ตายดอกอย่าตกใจ”

แล้วจึงบอกความประสงค์ให้ทราบว่า ท่านได้พิจารณาแล้วรู้ว่า อาพาธครั้งนี้จะระงับได้ด้วยธรรมโอสถ ณ สถานที่แห่งหนึ่งคือป่าเปอะ อันเป็นสถานที่วิเวก ใกล้นครเชียงใหม่ ท่านจะไปพักที่นั่น เจ้าคุณพระเทพโมลีก็อำนวยตามความประสงค์
ท่านไปพักทำการเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน เป็นอนุโลม ปฏิโลม เพ่งแผดเผาภายในอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนไม่นานอาพาธก็สงบ จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “ฌายี ตปติ อาทิจฺโจ” พิจารณาได้ความว่า “ฌานแผดเผาเหมือนดวงอาทิตย์ฉะนั้น”

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อจากนครเชียงใหม่มาสู่อุดรธานี ตามคำนิมนต์ของเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ พักที่วัดโนนนิเวศน์ ๒ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชน ณ ถิ่นนั้น แล้วมาสกลนครตามคำนิมนต์ของนางนุ่ม ชุวานนท์ พักที่วัดป่าสุทธาวาส เพื่อสงเคราะห์สาธุชนพอสมควรแล้ว เลยออกไปพักที่เสนาสนะป่าบ้านนามนและบ้านนาสีนวลบ้าง ในคราวไปพักที่เสนาสนะป่าบ้านนาสีนวลนั้น อาพาธกำเริบ เป็นไข้และปวดท้อง ได้พิจารณาตามโพชฌงค์มิท้อถอย เมื่อพิจารณาโพชฌงค์พอแล้วได้อยู่ด้วยความสงบ ไม่นานอาพาธก็สงบ จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “ฌายี ตปติ อาทิจฺโจ” พิจารณาได้ความเหมือนหนหลัง

คราวที่พักอยู่เสนาสนะป่าบ้านห้วยแคน อาพาธกำเริบอีก ได้พยายามระงับด้วยธรรมโอสถ โดยพิจารณามรรค ๘ กับธุดงค์ ๑๓ เมื่ออาพาธสงบแล้ว จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “อฏฺฐ เตรส” พิจารณาได้ความว่า “มรรค ๘ กับธุดงค์ ๑๓ ประชุมลงเป็นสามัคคีกัน” อาพาธครั้งนี้ ๗ วันจึงระงับ

คำเตือนสติศิษย์ผู้ออกแสวงหาวิเวก

เมื่อมีศิษย์รูปใดไปอำลาท่านเพื่อออกแสวงหาที่วิเวกบำเพ็ญสมณธรรม ท่านย่อมตักเตือนศิษย์รูปนั้น ให้ยึดเอาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นตัวอย่างเป็นแบบฉบับเสมอ แล้วเล่าเรื่องที่ท่านเคยเป็นมาแล้วให้ฟังว่า

เมื่อคราวแสวงหาวิเวกเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ทางภาคเหนือได้ออกวิเวกไปองค์ เดียว ถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งนานาประการ พิจารณาอยู่ ๓ วัน จึงได้ความว่า ต้องยกธง ๓ สี อุปมาด้วยธงแห่งสยามประเทศ แล้วมีพระบาลีซึ่งมิได้เคยสดับมาปรากฏขึ้นต่อไปว่า

“สุตาวโต จ โข ภิกฺขเว อสุตาวตา ปุถุชฺชเนนาปิ ตสฺสานุโรธา อถวา วิโรธาเวทุปิตา ตถาคตํ คจฺฉนฺติ ภควํ มูลกา โน ภนฺเต ภควา ภควํ เนตฺติกา ภควํ ปฏิสฺสรณา สาธุวต ภนฺเต ภควา เยว ปฏิภาตุ”

แล้วพิจารณาได้ความว่า

“ระหว่างพระอริยบุคคลผู้ได้สดับแล้วกับปุถุชนผู้มิได้สดับ ก็ย่อมถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งเช่นเดียวกัน แม้พระตถาคตก็ได้ถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งมาแล้วแสนสาหัสในคราวทรงบำเพ็ญ ทุกรกิริยา และการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น พระองค์มิได้ตรัสสอนให้เอาพระสาวกองค์นั้นองค์นี้เป็นตัวอย่าง ตรัสสอนให้เอาพระองค์เองเป็นตัวอย่าง เป็นเนติแบบฉบับ เป็นที่พึงเสมอด้วยชีวิต” ดังนี้

สำเร็จปฏิสัมภิทานุสาสน์

ตามประวัติเบื้องต้น ได้เล่าสุบินนิมิตของท่านและการพิจารณาสุบินนิมิตของท่าน ได้ความว่า ท่านจะสำเร็จปฏิสัมภิทานุสาสน์ ฉลาดรู้ในเทศนาวิธีและอุบายทรมาน แนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ให้เข้าใจในพระธรรมวินัยและอุบายฝึกฝนจิตใจ แต่จะไม่ได้จตุปฏิสัมภิทาญาณ ดังนี้

คุณสมบัติส่วนนี้ ย่อมประจักษ์ชัดแก่ศิษย์ทั้งหลายสมจริงอย่างที่ท่านพยากรณ์ไว้ คือ ท่านฉลาดในเทศนาวิธี

ท่านเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ท่านได้พยายามศึกษาสำเนียงวิธีเทศนา อันจะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟัง ได้ความขึ้นว่า

เทศนาวิธีต้องประกอบด้วย:-

๑. อุเทศ คือกำหนดอุเทศก่อนหัวข้อธรรมที่พึงยกขึ้นแสดง วิธีกำหนดอุเทศนั้นคือทำความสงบใจหน่อยหนึ่ง ธรรมใดอันเหมาะแก่จริงนิสัยของผู้ฟังซึ่งมาคอยฟังในขณะนั้น ธรรมนั้นจะผุดขึ้น ต้องเอาธรรมนั้นมาเป็น อุเทศ ถ้าเป็นภาษาไทยต้องแปลเป็นบาลีก่อน

๒. นิเทศ คือเนื้อความ เพื่ออธิบายความของอุเทศนั้นให้กว้างขวางออกไปตามสมควร เมื่อเนื้อความปรากฏขึ้นในขณะนั้นแจ่มแจ้งแก่ใจอย่างไรต้องแสดงอย่างนั้น

๓.ปฏินิเทศ คือใจความเพื่อย่อคำให้ผู้ฟังจำได้จะได้นำไปไตร่ตรองในภายหลังเทศนาวิธีของ ท่านพระอาจารย์ย่อมเป็นไปตามหลักดังกล่าวนี้ บาลีอุเทศที่ท่านยกขึ้นมาแสดงบางประการ ท่านไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน ย่อมมาปรากฏขึ้นในเวลาแสดงธรรมนั้นเอง จึงสมกับคำว่าปฏิสัมภิทานุสาสน์แท้ เป็นการแสดงธรรมด้วยปฏิภาณญาณจริง ๆ จึงถูกกับจริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ยังผู้ฟังให้เกิดความสว่างแจ่มใสเบิกบานใจและเกิดฉันทะในอันประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

สมด้วยคำชมของเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) ว่า ท่านมั่น แสดงธรรมด้วย มุตโตทัย เป็น “มุตโตทัย” ดังนี้ ซึ่งข้าพเจ้าเอามาเป็นชื่อธรรมกถาของท่านพระ

ใส่ความเห็น